กีฬาเพื่อสุขภาพและการลดภาระด้านสาธารณสุขของชาติ

ภัยคุกคามจากโรคกลุ่มโรค NCDs (Non-Communi- cable diseases) หรือ ชื่อภาษาไทยเรียกว่า “กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” อันได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วนลงพุงหรือมะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศ ไทย สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยตายจากโรค NCDs คิดเป็น 75% ของการตายทั้งหมด เฉลี่ย 320,000 คน/ปี หรือคิดเป็น ชั่วโมงละ 37 คน

นอกจากความน่ากลัวของกลุ่มโรคนี้แล้วยังทำให้ประเทศต้องแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยข้อมูลในปี 2018 ระบุว่ารัฐต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนคนไทยปีละกว่า 4 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 6.3 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมกับการที่ประเทศไทยเรากำลังจะเข้าสู่งสังคมสูงวัย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นรายจ่ายทางด้านการรักษาสุขภาพของรัฐอาจจะสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

เน้นยุทธศาสตร์ชาติเร่งการส่งเสริมสุขภาพคนไทยเชิงรุกโดยการส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬา

ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าคนไทยรุ่นใหม่กำลังนิยมออกกำลังกายกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในฟิตเนส ซึ่งถือว่าเป็นการเดินมาอย่างถูกทาง แต่ถ้าวิเคราะห์ภาพรวมแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจยังไม่เข้าทั่วถึงคนไทยทั้งหมดโดยเฉพาะในชนบทซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้าถึงเรื่องการรักษาพยาบาลหรือการตรวจสุขภาพได้ยากอยู่แล้ว รัฐจึงควรส่งเสริมเรื่องของการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาให้เข้าสู่ชนบทมากกว่านี้ โดยการลงทุนเพื่อส่งเสริมการสร้างสุขภาพของคนไทยโดยผลที่จะได้คืนมาคือการลดรายจ่ายในการรักษาสุขภาพของคนไทยในอนาคต

สำหรับยุทธศาสตร์นั้นต้องทำงานประสานกันระหว่างกระทรวง โดยในสังคมชนบทแน่นอนว่าแต่ละชุมชนมีพื้นที่ใช้สอยอย่างเหลือเฟือ การลงทุนง่าย ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนโดยการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการโดยการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย เช่นการสร้างศูนย์ออกกำลังกายชุมชน ใช้อุปกรณ์เครื่องออกกำลังกายที่ไม่แพงมาก สร้างสถานที่วิ่งออกกำลังกายหรือปั่นจักรยาน และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขควรมีหน้าที่เข้าไปตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นการป้องกันรักษาได้ทันท่วงที และแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกายแทนการใช้ยาในหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของยุทธศาสตร์ระยะยาวควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะมีหน้าที่ปลูกฝังนักเรียนและเยาวชนให้ใส่ใจด้านสุขภาพโดยการออกกำลังกาย โดยจำเป็นต้องให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาเพื่อตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายที่สามารถป้องกันโรคได้ ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถสร้างยุทธศาสตร์ที่จะเก็บดอกผลจากความสนใจในการออกกำลังกายของประชาชนได้โดยการจัดการแข่งขันวิ่ง หรือปั่นจักรยานในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติไม่จำเป็นต้องมีความซับซ้อนมากมายขอเพียงแค่มองถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นหลัก ซึ่งคุณภาพชีวิตของคนหลัก ๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพ หากประชาชนสุขภาพดีย่อมมีเรี่ยวแรงในการทำมาหากิน ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยากินเองหรือไปโรงพยาบาล ส่วนรัฐก็ลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลประชาชน ลดปัญหาการการแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งสร้างรายได้ให้ประชาชนจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีก แบบนี้ถือว่า Win กับ Win และหวังว่าเรื่องราวแบบนี้คงจะเกิดขึ้นจริงกับประเทศไทย